หลักเกณฑ์การตรวจประเมิน ประกอบด้วย

  1. หลักเกณฑ์ทั่วไป  
    • 1.1 สินค้าเนื้อสัตว์ที่นำมาจำหน่ายต้องมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ (ฆจส.2) และมีแบบตอบรับแจ้งการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ (ฆจส. 5-10,ฆจส.14) กำกับซากและต้องมาจากฟาร์มมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง (GAP) จากกรมปศุสัตว์ โดยโรงฆ่าสัตว์จะต้องมีการจดบันทึกสัตว์ที่เข้าฆ่าและซากสัตว์ที่มีการจำหน่ายออกเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้แบบฟอร์มหนังสือตรวจสอบย้อนกลับและรับรองซากสัตว์ที่กำหนดมาให้ หรือมาตรการอื่นที่สามารถตรวจสอบ ย้อนกลับ  
    • 1.2 สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ต้องมีการจดบันทึก หรือมีเอกสารแสดงการตรวจสอบ ย้อนกลับจากสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์กลับไปยังโรงฆ่าสัตว์และ/หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์
    • 1.3 ผู้ประกอบการจำหน่ายเนื้อสัตว์ ต้องมีใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (แบบ ร.10)
    • 1.4 หากผู้ประกอบการได้รับการรับรอง ต้องแสดงตราสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK ณ จุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด ในสถานที่เปิดเผยและผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน และรักษาสภาพของป้ายให้สะอาดอยู่เสมอ
    • 1.5 ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินตามแบบประเมินที่กำหนดไว้ และมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ประกอบการจึงจะได้รับการรับรองหรือต่ออายุตามโครงการฯ
    • 1.6 ปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด
  2. ลักษณะของสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์
    • 2.1 จุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ ได้แก่ แผงจำหน่าย ชั้นวางจำหน่าย ตู้แช่จำหน่ายต้องทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน พื้นผิวเรียบ ทำความสะอาด ได้ง่าย ไม่ดูดซับน้ำและสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ บริเวณวางจำหน่ายเนื้อสัตว์มีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีสภาพดี
    • 2.2 จุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ต้องไม่เป็นแหล่งอาศัยของแมลงและสัตว์พาหะนำโรค มีวิธีการที่สามารถป้องกันการปนเปื้อน ป้องกันแมลงและสัตว์พาหะได้
    • 2.3 จุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ หากมีการควบคุมอุณหภูมิต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส
    • 2.4 กรณีของแผงจำหน่ายในตลาดสด หรือจุดจำหน่ายใน Modern Trade ที่มีการ ตัดแบ่งจำหน่าย ต้องมีก๊อกน้ำหรืออ่างล้างมือหรือกรณีที่ใช้การตักน้ำสำหรับล้างมือ ต้องใช้วิธีให้น้ำไหลผ่านพร้อมสารทำความสะอาดซึ่งตั้งอยู่ในที่เหมาะสมหรือบริเวณใกล้เคียงทั้งนี้น้ำล้างมือจะต้องถูกระบายในที่ที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนกับเนื้อสัตว์
    • 2.5 การจัดการควบคุมสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์ OK)
      • 2.5.1 มีการล้างทำความสะอาดบริเวณสถานที่จำหน่ายและบริเวณโดยรอบเป็นประจำทุกวันและดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
      • 2.5.2 มีน้ำสะอาดสำหรับใช้ล้างทำความสะอาดอย่างเพียงพอ
      • 2.5.3 เนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายต้องมีการจัดวางเป็นระเบียบ แยกส่วนเนื้อสัตว์ ออกจากเครื่องในสัตว์ (ยกเว้น การขายไก่ตัวรวมเครื่องใน)
      • 2.5.4 บริเวณที่จำหน่ายควรมีความเข้มของแสงสว่างเพียงพอสำหรับการมองเห็นสีของเนื้อได้อย่างชัดเจน
      • 2.5.5 ต้องมีที่รองรับมูลฝอยประจำสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกหลักสุขาภิบาลและทำความสะอาดอยู่เสมอ
      • 2.5.6 กรณีของแผงจำหน่ายในตลาดสด หรือจุดจำหน่ายใน Modern Trade ที่มีการตัดแบ่งจำหน่ายต้องมีถุงมือที่สะอาดหรือเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับบริการผู้ซื้อ เพื่อใช้ในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ไปสู่เนื้อสัตว์
    • 2.6. อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้
      • 2.6.1 สิ่งของและเครื่องมือเครื่องใช้ต้องจัดวางอย่างเป็นระเบียบและมีที่จัดเก็บอย่างถูกสุขลักษณะ
      • 2.6.2 เขียง มีดและอุปกรณ์ที่สัมผัสกับเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ต้องสะอาด ทำด้วยวัสดุคงทนสามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้และไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนกับเนื้อสัตว์
      • 2.6.3 มีการล้างภาชนะ เครื่องมือและอุปกรณ์โดยต้องรักษาความสะอาดอยู่เสมอก่อนการนำไปใช้และภายหลังการใช้งาน
    • 2.7 สุขลักษณะผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์ OK)
      • 2.7.1 ผู้จำหน่ายต้องสวมเครื่องแต่งกายที่สะอาด มีอุปกรณ์ป้องกันการปนเปื้อน เช่น หมวกคลุมผม ผ้ากันเปื้อน
      • 2.7.2 ผู้จำหน่ายต้องปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือหลังออกจากห้องสุขา หรือสัมผัสสิ่งสกปรก
      • 2.7.3 ผู้จำหน่ายที่มีบาดแผลในส่วนที่ต้องสัมผัสกับเนื้อสัตว์ต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยวิธีการที่ป้องกันการปนเปื้อนไปยังเนื้อสัตว์ได้
      • 2.7.4 ในกรณีที่ผู้จำหน่ายสวมใส่เครื่องประดับที่นิ้วและมือต้องสวมใส่ถุงมือเพื่อป้องกันการปนเปื้อนก่อนสัมผัสกับเนื้อสัตว์
      • 2.7.5 ผู้จำหน่ายต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคที่แสดงอาการที่สังคมรังเกียจ
    • 2.8 กรณีจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ใน Modern Trade ต้องมีการแยกจุดจำหน่ายของเนื้อสัตว์ที่ตรงตามหลักเกณฑ์การรับรองนี้ออกจากสินค้าเนื้อสัตว์อื่นๆ อย่างชัดเจน ดังนี้
      • กรณีชั้นวางจำหน่ายเนื้อสัตว์
        ต้องมีการแยกชั้นวางจำหน่ายเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ตรงตามเกณฑ์การรับรองนี้ออกจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน หรือหากไม่สามารถแยกชั้นวางจำหน่ายได้ ต้องมีการจัดแบ่งโซนในชั้นวางให้ เห็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การกั้นสัดส่วนแยก หรือการใช้สีแยกเด่นชัด จากโซนที่วางสินค้าอื่นๆ และมีป้ายบ่งชี้ตามแบบของกรมปศุสัตว์ให้ชัดเจนว่า ชั้นวางนี้หรือโซนนี้เป็นจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์OK)
      • กรณีตู้แช่จำหน่ายเนื้อสัตว์
        ต้องมีการแยกตู้แช่จำหน่ายเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ตรงตามเกณฑ์การรับรองนี้ ออกจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน หรือหากไม่สามารถแยกตู้แช่จำหน่ายได้ ต้องมีการจัดแบ่งโซนในตู้แช่ให้เห็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การกั้นสัดส่วนแยก หรือการใช้สีแยกเด่นชัด จากโซนที่วางสินค้าอื่นๆ และมีป้ายบ่งชี้ตามแบบของกรมปศุสัตว์ให้ชัดเจนว่า ตู้แช่นี้เป็นจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์OK)
      • กรณีมุมหรือบูธจำหน่ายเนื้อสัตว์
        ต้องมีการแยกมุมหรือบูธจำหน่ายเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ตรงตามเกณฑ์การรับรองนี้ ออกจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน หรือหากในมุมหรือบูธจำหน่ายนั้น มีสินค้าชนิดอื่นจำหน่ายด้วย ต้องมีการจัดแบ่งโซนให้เห็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การกั้นสัดส่วนแยก หรือการใช้สีแยกเด่นชัด จากโซนที่วางสินค้าอื่นๆ และมีป้ายบ่งชี้ตามแบบของกรมปศุสัตว์ให้ชัดเจนว่า มุมหรือบูธนี้เป็นจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์OK) ต้องมีการแสดงฉลากบนเนื้อสัตว์ ระบุวันที่ผลิตและแหล่งที่มาอย่างชัดเจนและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
  3. การตรวจสอบย้อนกลับ
    • ในการตรวจสอบย้อนกลับ ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถทำ ได้จริงและคณะกรรมการตรวจประเมินสามารถตรวจสอบได้ในระยะเวลาย้อนหลังอย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการตรวจ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับจากสถานที่จำหน่ายกลับไปยังโรงฆ่าสัตว์ และตรวจสอบย้อนกลับจากโรงฆ่าสัตว์ไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ หรือสามารถตรวจสอบย้อนกลับจากสถานที่จำหน่ายกลับไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้
  4. การเก็บตัวอย่างตรวจสอบประกอบการตรวจประเมิน
    • หากตรวจพบว่าเนื้อสัตว์ที่ทำการเก็บตัวอย่างมียาปฏิชีวนะตกค้าง ฮอร์โมน หรือสารเบตา-อะโกนิสต์หรือหากพบค่า Total Bacterial Count, S.aureas and Salmonella spp. เกินค่ามาตรฐาน มีมาตรการ ดังนี้
      • - คณะกรรมการรับรองจะไม่พิจารณาให้การรับรอง
      • - คณะกรรมการตรวจประเมินแจ้งผู้ประกอบการ และสอบสวนหาสาเหตุ พิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป
      • - คณะกรรมการตรวจประเมินเข้าไปเก็บตัวอย่างตรวจซ้ำอีก 1 ครั้ง (ระยะเวลาในการแก้ไขและส่งตัวอย่างใหม่ไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่รู้ผล ถ้าเกินเวลาที่กำหนด ต้องขอรับรองใหม่)